
แนวทางการจัดตั้งโครงการพัฒนาภาษา
ขึ้นปีงบประมาณใหม่แล้ว หน่วยงานใดที่มีแผนจัดตั้งโครงการพัฒนาภาษาทั้งสำหรับปีงบประมาณนี้ หรือปีงบประมาณต่อ ๆ ไป EdusoftX มีแนวทางและตัวอย่างการจัดตั้งโครงการมาให้ทุกท่านได้อ่านกันในวันนี้
รู้จักกับโครงการพัฒนาภาษา
โครงการพัฒนาภาษา คือ โครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาษาให้กับกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา บุคคลากรในหน่วยงานของรัฐ พนักงานในองค์กร หรือบริษัทเอกชน ได้พัฒนาและปรับปรุงทักษะทางด้านภาษาให้ดียิ่งขึ้นด้วยรูปแบบการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสิทธิภาพในการใช้งานภาษามากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน รวมไปถึงการนำไปใช้ได้จริงในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยโครงการพัฒนาภาษาแต่ละโครงการอาจมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่หลากหลาย และแตกต่างกันออกไปได้ เช่น
การพัฒนาภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communication Development)
การพัฒนาทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เพื่อเน้นให้บุคคลสามารถสื่อสารในภาษานั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาภาษาเพื่อการเรียนรู้ (Language Learning Development)
การพัฒนาแนวทางการสอนและเรียนรู้ภาษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในภาษา
การพัฒนาภาษาเพื่อการประเมิน (Language Assessment Development)
การพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือในการประเมินทักษะภาษาของบุคคล เช่น การสอบ CEFR, TOEIC, IELTS, TOEFL
การพัฒนาภาษาในเชิงวิชาการ (Linguistic Development)
การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างของภาษา โครงสร้างประโยค คำศัพท์ การออกเสียง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงการเกิดและพัฒนาภาษาในมนุษย์ เพื่อทำให้เข้าใจหลักการทำงานของภาษาได้ดียิ่งขึ้น
การพัฒนาภาษาเพื่อการแปลและการตีความ (Language Translation and Interpretation Development)
การเรียนรู้ถึงความหมาย ที่มาของภาษา เพื่อการแปลและการตีความอย่างลึกซึ้ง เพื่อการนำไปใช้ในบริบทต่างๆ
โครงการพัฒนาภาษาสำคัญกับสถานศึกษาอย่างไร?
แน่นอนว่าทุกสถานศึกษาได้รับนโยบายการพัฒนาภาษามาจากกระทรวงฯ เพื่อประกันคุณภาพสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อวัดผลการเรียนการสอน รวมถึงเพื่อวัดผลผู้เรียนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความคาดหวังในพัฒนาทักษะภาษาดังนั้น โครงการพัฒนาภาษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสถาบันให้ได้มาตรฐานตามปฏิรูปการศึกษา และเผื่อไปตามแผนของกระทรวงฯ วันนี้ EdusoftX มีรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงพัฒนาภาษามาฝากทุกท่าน
1. โครงการพัฒนาทักษะการสื่อสาร ช่วยในการพัฒนาทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการสื่อสารทั่วไป และการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน
2. โครงการพัฒนาภาษาเพื่อการเรียนรู้ทางวิชาการ ช่วยในการเรียนรู้ทางวิชาการที่ดีขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น นักศึกษาที่จบมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ควรมีระดับภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่า B1 ตามมารถฐาน CEFR
3. โครงการพัฒนาภาษาสนับสนุนการทำงานวิจัยและการเรียนรู้ การเรียนรู้ภาษาในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยในเข้าถึงข้อมูล การอ่านหนังสือ การเขียนรายงานวิจัย และการทำโครงงานทางวิชาการ
4. โครงการพัฒนาภาษาเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมและความเข้าใจต่อสังคม สร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรม และเห็นถึงความสำคัญของการรับรู้และเข้าใจบริบทสังคมที่หลากหลายผ่านการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป
5. โครงการพัฒนาภาษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงาน และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก เตรียมความพร้อมทางด้านภาษาให้กับนักเรียน นักศึกษาในการเข้าสู่สังคมและตลาดแรงงานในอนาคต ด้วยการเพิ่มทักษะการสื่อสารที่จำเป็นทั้งการทำงานและในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสร้างทักษะในการทำงานร่วมกับผู้คนจากวัฒนธรรมและภาษาที่หลากหลาย
นโยบายและจุดเน้นกระทรวงศึกษาธิการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาภาษา

เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ สร้างสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน จัดการเรียนรู้ทางภาษาของผู้เรียนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่หลากหลายและแพลตฟอร์มการเรียนรู้อัจฉริยะที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อการสอนคุณภาพสูงรวมทั้งมีการประเมินและพัฒนาผู้เรียน รวมถึงการประเมินระดับทางภาษาที่เน้นสมรรถนะและผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียน เพื่อพัฒนาสมรรถนะทางภาษาเพื่อไปประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ โดยการ Re-skill Up-skill และ New skill เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น พร้อมทั้งสร้างช่องทางอาชีพในรูปแบบหลากหลายให้ครอบคลุมผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งผู้สูงอายุ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบทดสอบทางการศึกษามสมรรถนะที่จำเป็นในการเข้าสู่อาชีพ และการนำผลการทดสอบไปใช้คัดเลือกเข้าทำงาน ศึกษาต่อ ขอรับประกาศนียบัตรมาตรฐานสมรรถนะการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) การขอรับวุฒิบัตรสมรรถนะภาษาอังกฤษ (English Competency)
รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ Performance Appraisal (PA) ที่ใช้ระบบการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบบ Digital Performance Appraisal (DPA) และส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการ พัฒนาสมรรถนะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลตามกรอบระดับสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา ให้มีความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการจัดการเรียนรู้ทางด้านภาษา การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้งให้เป็นผู้วางแผนเส้นทางการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของผู้เรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของแต่ละบุคคล
แนวทางการจัดตั้ง และตัวอย่างโครงการ
หลักการและเหตุผล
การเขียนหลักการและเหตุผล หรือที่มาและความสำคัญของโครงการ เป็นการบอกถึงสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น พร้อมทั้งพูดถึงว่าหากเกิดโครงการนี้ขึ้นแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง การเขียนอธิบายปัญหาที่มาโครงการ ควรนำข้อมูลสถานการณ์ปัญหาจากหน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะทำโครงการมาแจกแจงให้ผู้พิจารณาโครงการเกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น
หากต้องการตั้งโครงการ เช่น “โครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในศตวรรษที่ 21” อาจเขียนเล่าหลักการและเหตุผลตามนโยบายของรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ และจุดเน้นประจำปีงบประมาณที่ว่าด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน รวมถึงการมีเกณฑ์อ้างอิง โดยใช้กรอบอ้างอิงความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล ได้แก่ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ซึ่งถือว่าเป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถกล่าวถึงการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดและประเมินผล การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ ตลอดจนการประกันคุณภาพของนักเรียน/ นักศึกษาก่อนที่จะจบการศึกษา เพื่อที่จะสนองตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ หมายถึง สิ่งที่ต้องการทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในช่วงโครงการ และเป็นขั้นตอนหนึ่งของการไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้
ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์โครงการให้สอดคล้องกับนโยบายสถานศึกษา หรือ นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เช่น
- เพื่อพัฒนาให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สอบผ่านภาษาอังกฤษได้ในระดับมาตรฐานตามเกณฑ์ CEFR ในระดับ B1
- เพื่อให้บุคลากรได้รับความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการสอบวัดสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษตามมาตรฐาน CEFR
- เพื่อพัฒนายกระดับทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทั้ง 4 ด้าน ในด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน และไวยากรณ์
- เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในการสอบวัดระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษ Test of English for International Communication (TOEIC)
- เพื่อให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ เกิดการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 ด้านความคิดริเริ่ม การเรียนรู้ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ทั้งต่อการเรียน และโลกของการทำงานในการประกอบอาชีพได้
เป้าหมาย/ ผลผลิต
เป้าหมายของโครงการ หมายถึง ทิศทางหรือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคตอันไกล หลังจากสิ้นสุดโครงการ การเขียนเป้าหมายต้องมีความชัดเจน สามารถระบุผลที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการ และกลุ่มเป้าหมายได้
เชิงปริมาณ – ผู้เรียนร้อยละ 60 มีผลการสอบวัดระดับ CEFR ในระดับ A2 ขึ้นไปหลังจากจบโครงการ
เชิงคุณภาพ – ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เฉลี่ยในภาพรวม อยู่ในระดับดี
เนื้อหาการจัดอบรม
จัดตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งอาจประกอบไปด้วย การทดสอบก่อน-หลังเรียน ด้วยแบบทดสอบตามกรอบความสามารถทางภาษอังกฤษ CEFR ตามด้วยบทเรียนภาษอังกฤษออนไลน์ หลักสูตรตามกรอบ CEFR ระดับ A1-B2 และเสริมด้วยการอบรมเตรียมความพร้อมเทคนิคการทำข้อสอบ CEFR โดยห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom)
เกณฑ์การผ่านโครงการ
เกณฑ์การเรียนรู้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับหลักสูตรของแต่ละสถานศึกษาได้ เช่น
- Course Completion: 80% / หลักสูตร
- Average Test Scores: 75% / หลักสูตร
- Time on Task: 10 ชั่วโมง / หลักสูตร
- Final Test: 65% / หลักสูตร
- ผู้เรียนผ่านการเข้าสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษทั้งก่อน และหลังเรียน
- ผู้เรียนเข้าอบรมกับวิทยากรไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง
รายงานผลการเข้าร่วมโครงการ
หลังจากเริ่มดำเนินโครงการควรมีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอว่าแต่ละกิจกรรมของโครงการก่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ติดตามประเมินด้วยวิธีใด ทั้งในขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม และหลังจบโครงการแล้ว พร้อมทั้งระบุตัวชี้วัด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อที่หากพบปัญหาจะสามารถแก้ไขและปรับปรุงได้ทันเวลา
หากโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษา หรือหน่วยงานใด มีความประสงค์จะจัดตั้งโครงการพัฒนาภาษา สามารถติดต่อ EdusoftX เพื่อร่วมกันจัดตั้งโครงการและวัตถุประสงค์ร่วมกันให้เป็นไปตามนโยบายของสถานศึกษาได้
ที่มา: ข่าว ศธ.360 องศา, กระทรวงศึกษาธิการ
สนใจเรียนภาษาอังกฤษสำหรับองค์กร/ สถานศึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
📌Line: @edusoftxth
📌Tel: 02 241 6870
Share This :
Our resources